จี สตีล และ จี เจ สตีล ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ เข้าหารือบีโอไอ เตรียมขอส่งเสริมลงทุนปรับปรุงสายการผลิตครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี มูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท มุ่งยกระดับศักยภาพการผลิตเหล็กในประเทศไทย ก้าวสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ พร้อมผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเหล็กเพื่อส่งออกตลาดอาเซียนและยุโรป
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผู้บริหารของ บมจ. จี สตีล และ บมจ. จี เจ สตีล ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ถือหุ้นหลักโดยบริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าหารือกับบีโอไอ เพื่อลงทุนปรับปรุงสายการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 4,500 ล้านบาท ภายในระยะ 3 ปีข้างหน้า ประกอบด้วยการลงทุนของ บมจ. จี สตีล ที่จังหวัดระยอง 3,000 ล้านบาท และ บมจ. จี เจ สตีล ที่จังหวัดชลบุรี 1,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัย พัฒนาคุณภาพและขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายยิ่งขึ้น ยกระดับสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเหล็กที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการวัตถุดิบเหล็กรีไซเคิลเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความคล่องตัวในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ
กลุ่มนิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น (NSC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของจี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งสายการผลิตแรกในประเทศไทยมากว่า 60 ปี เริ่มจากการผลิตท่อเหล็กก่อนขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยมีบริษัทในเครือกว่า 30 แห่ง มีพนักงานในไทยรวมกันกว่า 8,000 คน และเมื่อปี 2565 ได้เข้าร่วมลงทุนใน บมจ. จี สตีล และ บมจ. จี เจ สตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของไทย ปัจจุบันกลุ่มบริษัท จี สตีล และ จี เจ สตีล เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นกลุ่มบริษัทเดียวที่ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ และยังเป็นผู้รีไซเคิลเศษเหล็กรายใหญ่ในประเทศไทย ที่ได้รับใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของไทย และสอดรับกับทิศทางความต้องการผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำในตลาดโลก
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้เหล็กต่อคน (Steel consumption per capita) มากที่สุดในอาเซียน คือประมาณ 234 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศไทยประมาณ 180 ราย แบ่งเป็นเหล็กทรงยาวประมาณ 100 ราย และเหล็กทรงแบนประมาณ 80 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (ร้อยละ 60) รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (ร้อยละ 20) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 7) เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม (ร้อยละ 5) และบรรจุภัณฑ์ (ร้อยละ 5) และอื่น ๆ (ร้อยละ 3) โดยที่ผ่านมาตลาดเหล็กในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันอย่างรุนแรงจากภาวะ Oversupply และการเร่งระบายเหล็กจากประเทศจีนออกสู่ตลาดโลก การที่กลุ่มจี สตีล และ จี เจ สตีล ตัดสินใจขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทเหล็กในประเทศไทย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของกติกาการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดกลุ่มยุโรปในอนาคต