บีโอไอเร่งเครื่องดึงลงทุนครึ่งปีหลัง ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน ยกทัพโรดโชว์เกาหลี จัดงานสัมมนาใหญ่พร้อมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจไทย - เกาหลี รุกโชว์ความพร้อมของไทย ย้ำความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมลงทุนภายใต้รัฐบาลใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในอาเซียน หลังกลุ่มฮุนไดตัดสินใจปักฐานลงทุน EV ในประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 บีโอไอได้จับมือภาครัฐ - เอกชน ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) บมจ. ปตท. บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ บจ. ซีพีเอฟ ฟู้ด เน็ตเวิร์ก และกลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ อมตะ ดับบลิวเอชเอ และสวนอุตสาหกรรม 304 เดินทางไปจัดกิจกรรมโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ทั้งด้านการเป็นฐานการผลิตและบริการด้านต่าง ๆ ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ศูนย์กลางด้านดิจิทัล แหล่งที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาค ไปจนถึงการเป็นศูนย์รวมบุคลากรทักษะสูงของภูมิภาค อีกทั้งยังได้ตอกย้ำว่ารัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการลงทุน และนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ยังคงมีความต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเกาหลีด้วย
ในการจัดโรดโชว์เกาหลีครั้งนี้ บีโอไอได้จัดงานสัมมนา "Thailand - Korea Investment Forum” ณ โรงแรม The Shilla Seoul โดยมีวิทยากรจากภาครัฐ - เอกชน ร่วมให้ข้อมูลการลงทุน อัพเดทมาตรการใหม่ ๆ และชี้โอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทไทย งานสัมมนาครั้งนี้มีนักธุรกิจเกาหลีเข้าร่วมมากกว่า 160 บริษัท ทั้งจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ดิจิทัล การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานสะอาด และมีการจับคู่เจรจาธุรกิจมากกว่า 20 คู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย และความสนใจจากกลุ่มธุรกิจเกาหลีที่เพิ่มสูงขึ้น หลังบริษัทรายใหญ่ของเกาหลีได้ตัดสินใจลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทฮุนได มอเตอร์, ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และฮาร์แมน ในเครือซัมซุง
นอกจากนี้ เลขาธิการบีโอไอและเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ยังได้ร่วมกันหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของเกาหลี 4 ราย ดังนี้
1. บริษัท Hyundai Motor ค่ายรถยนต์อันดับหนึ่งของเกาหลี ซึ่งได้รับการส่งเสริมผลิตรถยนต์ BEV และแบตเตอรี่ในไทยแล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ บริษัทได้ย้ำความตั้งใจในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รวมถึงแผนขยายการลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้าที่สามารถรองรับการใช้งานร่วมกับยี่ห้ออื่น ๆ ด้วย
2. บริษัท Korea Land & Housing เป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของเกาหลี มีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เมืองใหม่ พื้นที่อุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ทั้งในเกาหลีและต่างประเทศ โดยมีแผนจะลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในไทย เพื่อรองรับการลงทุนจากบริษัทเกาหลี โดยจะร่วมทุนกับบริษัทเอกชนไทยและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสนใจโครงการ Landbridge เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนามบินอินชอนและเมืองรอบ ๆ ด้วย
3. บริษัท SK Bioscience ในเครือ SK Group มีแผนจะลงทุนพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมและสถาบันวัคซีน โดยจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โครงการนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ และยังช่วยพัฒนาความสามารถของบุคลากรไทยในการผลิตวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงด้วย
4. บริษัท CJ BIO ในเครือ CJ Group ได้แจ้งความสนใจที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการปรับปรุงกฎระเบียบสูตรอาหารสัตว์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เนื้อสัตว์แปรรูปของไทยในการส่งออกไปตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดยุโรป นำไปสู่โอกาสการลงทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบริษัทในอนาคต รวมทั้งมีความสนใจลงทุนธุรกิจอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพลาสติกชีวภาพ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบการเกษตร โดยเฉพาะอ้อยและมันสำปะหลัง
ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึง Soft Power ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – มิถุนายน 2567) เกาหลีใต้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 148 โครงการ มูลค่ากว่า 62,700 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น โครงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของกลุ่มซัมซุง ลงทุนกว่า 31,000 ล้านบาท โครงการผลิตเครื่องเสียงของบริษัท ฮาร์แมน ในเครือซัมซุง ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และล่าสุด โครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของกลุ่มฮุนได ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท