บีโอไอ ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มุ่งยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม คว้าโอกาสการก้าวสู่ Supply Chain ระดับโลก พร้อมอนุมัติมาตรการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และเคาะส่งเสริมลงทุนกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ จากฮ่องกง มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบ "มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีโอกาสในการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ยานยนต์สมัยใหม่ได้
มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะครอบคลุมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบสันดาปภายในและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเป็นการจัดตั้งนิติบุคคลใหม่หลังวันที่ออกประกาศ ต้องเป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและต่างชาติ โดยมีนิติบุคคลไทยถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียน
กรณีที่ 2 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเดิมเป็นหุ้นต่างชาติทั้งสิ้น และประสงค์จะร่วมทุนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียน
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลไทยตามเงื่อนไขของมาตรการนี้ ต้องจัดตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจนถึงวันยื่นคำขอ และต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของทุนจดทะเบียน โดยทั้งสองกรณี จะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2568 สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ปกติอีก 2 ปี
"ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี กลุ่มผู้ประกอบการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกว่า 1,300 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ที่ผลิตชิ้นส่วนในระดับ Tier 2-3 ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวและพัฒนาให้ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างรวดเร็ว คือการเปิดโอกาสให้มีการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การขยายเครือข่ายทางธุรกิจ การเพิ่มโอกาสในการใช้วัตถุดิบในประเทศ และจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และก้าวเข้าสู่ Supply Chain ในระดับโลกได้” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ "มาตรการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ” ตามข้อเสนอของสมาคมสายการบินประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาภาวะการขาดแคลนเครื่องบิน ในขณะที่มีความต้องการเดินทางเพิ่มมากขึ้น โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการสายการบิน สามารถนำเครื่องบินที่เคยนำเข้ามาใช้แล้วในประเทศ และต่อมามีการส่งออกไปต่างประเทศ กลับมาใช้ใหม่ในโครงการได้ โดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2568 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในช่วงที่ผ่านมา และสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นได้
สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมกิจการ Data Center ของบริษัทในกลุ่ม Oneasia Network Limited จากฮ่องกง เงินลงทุน 2,543 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมของบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) จังหวัดปทุมธานี โครงการนี้จะให้บริการ Data Center ระดับ Hyperscale - Tier 3 ที่ได้ ISO/IEC 27001 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของข้อมูล รองรับกำลังการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (IT Load) ประมาณ 25 เมกะวัตต์ (MW) โดยบริษัท Oneasia เป็นผู้ให้บริการระดับโลก และมี Data Center ที่เปิดให้บริการแล้วในฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้