บีโอไอ เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศ นำทัพหน่วยงานรัฐ-เอกชนไทยกว่า 70 คน บุกเจาะศูนย์กลางเศรษฐกิจของตะวันออกกลาง เตรียมเปิดสำนักงานบีโอไอแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการ 14 กรกฎาคมนี้ พร้อมจัดกิจกรรม Investment Forum และจับคู่ธุรกิจ เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจบริการ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2567 นี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทย เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อจัดงานประชุมภาคธุรกิจครั้งใหญ่ "Thai – Saudi Investment Forum” และงานเจรจาจับคู่ธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศแห่งที่ 17 และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยจะรับผิดชอบทั้งภารกิจดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าสู่ประเทศไทย และการสนับสนุนและอำนวย ความสะดวกแก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจไปลงทุนในตะวันออกกลาง โดยในครั้งนี้ จะมีผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทชั้นนำของไทย ร่วมเดินทางกว่า 70 คน และจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทย - ซาอุดีฯ รวมกว่า 10 ฉบับด้วย
หลังจากรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียได้ฟื้นความสัมพันธ์กันในปี 2565 รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้จัดคณะเดินทางเยือนซึ่งกันและกันมากกว่า 10 ครั้ง รวมทั้งเร่งสร้างความร่วมมือผ่านกลไกคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทำให้มีแนวโน้มความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น โดยประเทศซาอุดีอาระเบียมีกองทุน Public Investment Fund (PIF) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่มีการลงทุนสูงที่สุดในโลก และกำลังเร่งขยายการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่มีแผนพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย โดยจะเน้นลงทุนเพิ่มเติมในสาขาโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี อีกทั้งให้ความสนใจเป็นพิเศษกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น ธุรกิจดิจิทัลและนวัตกรรมขั้นสูง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การแพทย์ เกษตรและอาหารแปรรูป พลังงานสะอาด ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น
"ไทยและซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพในการเป็น Twin Hub ซึ่งกันและกัน โดยซาอุดีฯ อาจพิจารณา ใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน และใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ที่เป็น เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่นักธุรกิจไทยสามารถใช้โอกาสจากความร่วมมือกับซาอุดีฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของตะวันออกกลาง ในการขยายตลาดไปสู่ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีประชากรมากกว่า 400 ล้านคน และมีกำลังซื้อสูง การเปิดสำนักงานบีโอไอที่ซาอุดีฯ ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความร่วมมือและผลักดันการลงทุนระหว่างกันให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” นายนฤตม์ กล่าว