บีโอไอบุกออสเตรเลีย ดึงการลงทุนเป้าหมาย ตอบรับยุทธศาสตร์มุ่งสู่อาเซียน

event__image_1

          บีโอไอรุกโรดโชว์ออสเตรเลีย ชูโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ และอาหารแปรรูป รวมทั้งพบหน่วยงานพันธมิตร มุ่งยกระดับความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างไทย - ออสเตรเลีย ตอบรับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลออสเตรเลียที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เพื่อแสวงหาฐานการลงทุนใหม่ และลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

          นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดคณะผู้บริหารเดินทางเยือนกรุงแคนเบอร์รา และนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยได้เข้าพบกับหน่วยงานด้านการค้าและการลงทุน เช่น กระทรวง การต่างประเทศและการค้า กระทรวงการคลัง สำนักงานพาณิชย์และการลงทุนออสเตรเลีย (Austrade) สำนักงานการลงทุนแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Investment NSW) หอการค้าและอุตสาหกรรมออสเตรเลีย (ACCI) เพื่อหารือความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมาตรการที่ประสบความสำเร็จต่าง ๆ (Best Practices) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ

          นอกจากนี้ คณะยังได้พบกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กิจการผลิตแป้งข้าวสาลีและแปรรูปอาหารรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ซึ่งสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังแปรรูป กิจการ Data Center รายใหญ่ มีแผนเข้ามาลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นดิจิทัลฮับในภูมิภาค กิจการผลิตรถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้า และกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งกำลังพิจารณาแหล่งลงทุนใหม่ รวมทั้งได้หารือความร่วมมือกับผู้บริหารศูนย์นวัตกรรม Canberra Innovation Network ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน สตาร์ตอัปที่ใหญ่ที่สุด และศูนย์เทคโนโลยี Tech Central นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัป ด้านเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย

          "รัฐบาลใหม่ของออสเตรเลียให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดหลัก และลดผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งของขั้วมหาอำนาจ โดยได้แต่งตั้งผู้แทนพิเศษสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประสบการณ์สูงในภาคธุรกิจ และอยู่ระหว่างจัดทำแผนยุทธศาสตร์การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงปี 2040 ประกอบกับข้อจำกัดทางธุรกิจในออสเตรเลีย ทั้งการขาดแคลนบุคลากร ค่าแรงที่สูงขึ้นมาก และตลาดในประเทศที่จำกัด ทำให้ภาคเอกชนจำเป็นต้องมองหาแหล่งลงทุนใหม่ จึงเป็นจังหวะเวลาที่สำคัญของประเทศไทยที่ต้องใช้โอกาสนี้ ยกระดับความร่วมมือด้านการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของออสเตรเลีย เช่น อุตสาหกรรมแร่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่และเซมิคอนดัคเตอร์ ธุรกิจการศึกษาซึ่งออสเตรเลียมีมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาชั้นนำจำนวนมาก อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่องมือแพทย์ ระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล รวมทั้งธุรกิจด้าน BCG” นายนฤตม์ กล่าว

          ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง โดยเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย และเป็นคู่ค้ารายใหญ่ประเทศเดียวที่ยังสามารถรักษาการเติบโตของมูลค่าการค้าทั้งนำเข้าและส่งออกเป็นบวกในวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นตลาดส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นตลาดสำคัญสำหรับรถยนต์ EV ในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีแร่ Rare Earth จำนวนมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น แบตเตอรี่ และเซมิคอนดัคเตอร์ เป็นต้น โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้กำหนดยุทธศาสตร์ Critical Minerals Strategy 2023 – 2030 อีกด้วย สำหรับการลงทุน ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายสำคัญในประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 ถึงมิถุนายน 2566) มีโครงการจากออสเตรเลียยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 203 โครงการ เงินลงทุนรวมกันกว่า 54,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และเคมีภัณฑ์

7 สิงหาคม 2566 | OSOS Web Admin | Print

สอบถามข้อมูล

ติดต่อเราเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การบริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยหรือสอบถามข้อมูลอื่น ๆ
ติดต่อเรา