บีโอไอมั่นใจอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแข็งแกร่ง พร้อมเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาค หลังค่ายรถยนต์ระดับโลกเดินหน้าลงทุนไทย ขอรับการส่งเสริมแล้ว 14 ราย พร้อมชูกลยุทธ์ 3 ด้าน เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมอีวีอย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งซัพพลายเชน พัฒนาระบบนิเวศรองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมยั่งยืนระยะยาว ล่าสุดนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจการ "เมอร์เซเดส-เบนซ์” ผู้ผลิต แบรนด์รถชั้นนำจากเยอรมนี พร้อมพันธมิตรสำคัญ กลุ่มธนบุรีฯ ผู้ประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่อีวีครบวงจร
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีการจ้างงานถึงกว่า 8 แสนคน มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนกว่า 3,000 บริษัท มีมูลค่าส่งออกกว่า 9 แสนล้านบาท เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศไทย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ในครั้งนี้ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญและมีความหมายอย่างมากต่อการสร้างความยั่งยืนของฐานการผลิตยานยนต์ในไทย โดยอีวีจะเป็นหัวจักรใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และยังช่วยลดปัญหามลพิษจากภาคการขนส่ง ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย
การสร้างฐานอุตสาหกรรมอีวี ถือเป็นนโยบายระดับประเทศที่หลายหน่วยงานมาร่วมกันผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน โดยไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ออกมาตรการแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมผู้ผลิตและการสร้างตลาดในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ตลาดอีวีในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีบริษัทรถยนต์และชิ้นส่วนให้ความสนใจลงทุนตั้งฐานการผลิตเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีนักลงทุนรายสำคัญขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) แล้วจำนวน 14 ราย และยังคงมีแนวโน้มความสนใจจากบริษัทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
"แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จด้วยดีในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงเริ่มต้น แต่ระยะต่อไปจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุน อีวีอย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางการส่งเสริมอีวีของบีโอไอในระยะต่อไป จะมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์สำคัญ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกอีวีระดับโลกให้ได้ ได้แก่ 1) เดินหน้าดึงบริษัทตั้งฐานผลิตอีวีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้เปลี่ยนผ่านมาสู่อีวี และดึงบริษัทรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม 2) สร้างความเข้มแข็งให้ซัพพลายเชนในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญของอีวี รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ไทยที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนใหม่ของอีวีด้วย และ 3. ส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศของอีวี โดยเฉพาะในด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า การพัฒนาบุคลากรทักษะสูง การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อธุรกิจอีวี การจัดทำมาตรฐาน รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของศูนย์ทดสอบ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมอีวีที่ยั่งยืนในระยะยาว” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้บริหารระดับสูงของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก (Regional Overseas Meeting) ที่กรุงเทพฯ โดยเลขาธิการบีโอไอ ได้รับเชิญให้เป็นผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ มาร่วมพบปะและนำเสนอมาตรการของภาครัฐในที่ประชุมด้วย
"บีโอไอ ได้นำเสนอผู้บริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์จากทั่วโลก ให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนที่ครบวงจร ศักยภาพการเติบโตของตลาดในประเทศ และมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ โดยทางผู้บริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ให้ความสนใจซักถามหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า ความพร้อมของระบบจัดหาพลังงานหมุนเวียนสำหรับภาคธุรกิจ ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุน (EV3) และการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆ เพื่อให้ไทยเป็นฐานการส่งออกอีวีไปทั่วโลก” นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติม
ล่าสุดบีโอไอ ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมกิจการของ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำ พร้อมด้วย บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของบริษัท ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้เดินหน้าลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจรเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเป็นรายแรก และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Batterry Electric Vehicles: BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicles: PHEV) พร้อมกันนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เลือกให้บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วโลกอีกด้วย
ด้านนายมาร์ค เบอร์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บีโอไอ คือหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยทั้งใน ด้านของการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผ่านมา เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีการร่วมมือกับทางบีโอไออย่างต่อเนื่อง และได้รับการส่งเสริม การลงทุนในส่วนของโครงการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าร่วมกับพันธมิตรอย่าง บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด และบริษัท ธนุบรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
"เราได้ผลิตรถยนต์ประเภทปลั๊กอินไฮบริดและเริ่มประกอบแบตเตอรี่ตั้งแต่ปี 2562 และในปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้เริ่มต้นขึ้นไลน์การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง EQS 500 4MATIC AMG Premium ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกที่ประกอบในประเทศไทย รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ติดตั้งในรถรุ่นดังกล่าว ทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับลักชัวรี่แบรนด์รายแรก ที่มีการผลิตและประกอบแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในประเทศไทย” นายมาร์คกล่าว เร็วๆ นี้ บีโอไอเตรียมเดินสายโรดโชว์ ชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2566 เพื่อดึงนักลงทุน รายใหญ่มายังประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเกิดการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่จากเกาหลีใต้ เข้ามา ทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เป็นอีกตัวเลือกสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
PR50_2566TH.pdf (Download)
อัพเดทเมื่อ : 15-05-2566