บีโอไอ เดินหน้าแนวคิด BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

event__image_1

บีโอไอ ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากทั่วโลก เผยสถิติคำขอรับการส่งเสริมฯ กิจการกลุ่ม BCG รอบ 7 ปี 6 เดือน นับจากปี 2558 – มิถุนายน 2565 มีจำนวน 3,320 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 752,691 ล้านบาท ล่าสุดนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจการบริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด สตาร์ตอัปไบโอเทคไทย ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA รายแรกของไทย

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการกลุ่ม Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ กิจการในกลุ่ม BCG มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยและมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง พิจารณาได้จากสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ปี 2558 – มิถุนายน 2565 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีจำนวนรวม 3,320 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 752,691 ล้านบาท

"รัฐบาลได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดบนรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจ BCG มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นางสาวดวงใจกล่าว

ที่ผ่านมาบีโอไอ มีมาตรการสนับสนุนธุรกิจในกลุ่ม BCG และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ครอบคลุมหลากหลายประเภทกิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของผู้ประกอบการสตาร์ตอัปที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้การสนับสนุนในด้านเงินลงทุนแก่สตาร์ตอัป ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในกำรแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ซึ่งบีโอไอเชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่เศรษฐกิจและสังคม และช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งและยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

นายรักชัย เร่งสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านความหลากหลายของวัตถุดิบ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งสร้างเทคโนโลยีเพื่อต่อยอด ไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพขั้นสูง สำหรับฟรุตต้าเริ่มต้นธุรกิจจากการผลิตเครื่องดื่มประเภทน้ำผัก ผลไม้ และมีกากและเศษที่เหลือจากผลไม้ที่ผ่านกระบวนการผลิตในโรงงาน เช่น เปลือกมะละกอ เปลือกกล้วย รวมถึงน้ำมะพร้าวที่ค้างท่อจากการผลิตในปริมาณมาก บริษัทจึงได้คิดค้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือทิ้งข้างต้นและพบว่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำมาใช้เลี้ยงแบคทีเรียที่เป็นต้นกำเนิดของพลาสติกชีวภาพได้ ด้วยการใช้กระบวนการทางด้านปฏิกิริยาชีวภาพเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของแบคทีเรีย เพื่อให้ได้แบคทีเรียชนิดที่ดีที่สุด เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PHA (POLYHYDROXYALKANOATES) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ จากพลาสติกชีวภาพชนิด PHA เช่น ถุง ขวด หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น เป็นต้น และจะขยายการลงทุนไปสู่กำลังการผลิตที่ 1,100 ล้านชิ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ ด้านการแพทย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเกิดประโยชน์แก่วงการแพทย์ต่อไป

event__image_2


 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

event__image_3
PR85_2565TH.PDF (Download)
5 กันยายน 2565 | OSOS Web Admin | Print

สอบถามข้อมูล

ติดต่อเราเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การบริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยหรือสอบถามข้อมูลอื่น ๆ
ติดต่อเรา