บีโอไอเผยยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มูลค่ากว่า 3.8 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 158 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ผลจากการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการพลังงานไฟฟ้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงสุดอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ ขณะที่ FDI ครึ่งปีแรกมีมูลค่าสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 3.8 เท่า โดยการลงทุนจากญี่ปุ่นครองอันดับหนึ่งการขอรับการส่งเสริมฯ สูงสุด
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2564 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 801 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14 มูลค่าเงินลงทุน 386,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 158 ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่ในกิจการพลังงานไฟฟ้าที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากถึง 198 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 120,814 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าเงินลงทุน 60,970 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์มีมูลค่าเงินลงทุน 43,040 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์มีมูลค่าเงินลงทุน 28,160 ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตร และแปรรูปอาหารมีมูลค่าเงินลงทุน 23,170 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพมีมูลค่าเงินลงทุน 20,720 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งหากพิจารณาด้านอัตราการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ พบว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเติบโตขึ้นสูงถึงร้อยละ 850 หรือ 9.5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่จากกลุ่มทุนสหรัฐฯ ในกิจการผลิต Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท ตลอดจนกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เติบโตมากกว่า 3.3 เท่า จากความต้องการอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงมือยางทางการแพทย์ที่ไทยมีศักยภาพ
ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 403 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 278,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี (171,160 ล้านบาท) ร้อยละ 62 โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่นมีมูลค่าเงินลงทุน 42,773 ล้านบาท รองลงมาคือ สหรัฐฯ มีมูลค่าเงินลงทุน 24,131 ล้านบาท และจีนมีมูลค่าเงินลงทุน 18,615 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 232 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 126,640 ล้านบาท โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 64,350 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 40,860 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 21,430 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีมูลค่าเงินลงทุน 5,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 132 และพื้นที่นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม มีมูลค่าเงินลงทุน 184,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 133
นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวน 83 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 12,270 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลงทุนวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ตามลำดับ ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs มีมูลค่าเงินลงทุน 1,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
PR76_2564TH.pdf (Download)
PR77_2021EN.pdf (Download)
PR76_2564TH.pdf (Download)
PR77_2021EN.pdf (Download)